ตาเสือ ๓

Chisocheton macrophyllus King subsp. fulvescens Mabb.

ชื่ออื่น ๆ
มะอ้า, สาย, สายใบใหญ่ (ใต้)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว โคนต้นมักมีพูพอนแคบ เปลือกนอกสีน้ำตาลปนสีเทาอ่อน ผิวเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ เรียงเวียน คู่ ใบปลายสุดมักโค้งลง ใบอ่อนสีออกแดง มีใบย่อย ๕๐-๕๖ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรืออาจโค้งคล้ายรูปดาบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงหรือช่อกระจะเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ เปลือกแข็ง เมื่อแก่จัดแตกเป็น ๓ หรือ ๔ เลี้ยว มีเมล็ด ๓-๔ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มถึงสีแดง

ตาเสือชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. เส้นรอบวง ๑-๑.๕ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว โคนต้นมักมีพูพอนแคบ สูงได้ถึง ๓ ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลปนสีเทาอ่อน ผิวเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว มีช่องอากาศทั่วไป เปลือกในเป็นเส้นใยสีขาวหรือสีขาวแกมสีเหลือง กระพี้สีออกขาวแกมสีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลเข้ม

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ เรียงเวียน ยาวได้ถึง ๑.๗ ม. คู่ใบปลายสุดมักโค้งลง มีขนสั้น ใบอ่อนสีออกแดง มีใบย่อย ๕๐-๕๖ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรืออาจโค้งคล้ายรูปดาบ กว้าง ๖-๑๑ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายแหลมทู่หรืออาจเป็นติ่งแหลมสั้น โคนมน รูปลิ่ม หรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มตามแนวเส้นแขนงใบ เส้นกลางใบเรียบหรือเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๒๐ เส้น โคนเส้นค่อนข้างตรง ปลายเส้นโค้งไปสู่ขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได สังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑๐-๓๐ ซม. โคนก้านป่อง เมื่ออ่อนมีขนนุ่ม เมื่อใบร่วงจะมีรอยแผลใบรูปคล้ายกระจับ ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนนุ่มหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงหรือช่อกระจะเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ม. โค้งลงและมีขนนุ่มค่อนข้างหนาแน่น ดอกมักออกรวมเป็นกระจุกตามช่อแขนงย่อย ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก ด้านนอกมีขนสั้นประปราย ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๔-๕ กลีบ สีเหลืองอ่อน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ด้านนอกมีขนนุ่ม ดอกตูมถึงแรกบานขอบกลีบชิดกันคล้ายหลอด ดอกบานกลีบแยกจากกัน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. เกลี้ยง อับเรณูยาวประมาณ ๒.๕ มม. เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกหรือทรงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๒ มม. มีขนหยาบแข็ง มี ๓-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด แต่มักเจริญเพียงเม็ดเดียว ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก มีขนคล้ายไหม ยอดเกสรเพศเมียเป็นพู

 ผลแบบผลแห้งแตก ออกเป็นกระจุกตามปลายช่อผล รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๔.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๖-๘.๕ ซม. สังเกตเห็นเป็น ๓-๔ พู ผลแก่จัดสีน้ำตาลหรือสีส้ม เปลือกแข็ง เมื่อแก่จัดแตกเป็น ๓ หรือ ๔ เสี่ยง มีเมล็ด ๓-๔ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มถึงสีแดง

 ตาเสือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๑๒๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่วไป ผลเป็นอาหารของสัตว์ป่าบางชนิด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือ ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chisocheton macrophyllus King subsp. fulvescens Mabb.
ชื่อสกุล
Chisocheton
คำระบุชนิด
macrophyllus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. fulvescens
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Mabb.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1840-1909)
ชื่ออื่น ๆ
มะอ้า, สาย, สายใบใหญ่ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย